ลูกท่องศัพท์ไม่ได้ ทำอย่างไรดี - ตอนที่ 1
ตอนที่ 1 - ห้ามท่องศัพท์นะลูก
การท่องศัพท์กับภาษาอังกฤษ มันเหมือนจะเป็นสิ่งที่เกี่ยวก้อยมาคู่กันอย่างไม่เคยตกเทรนด์กันซะเลย เห็นเด็กเรียนภาษาอังกฤษทีไร จะต้องได้เห็นลิสต์คำศัพท์ที่ครูให้มาท่องอย่างไม่พลาด และเชื่อว่าขณะที่นั่งอ่านอยู่นี้ หลายๆ คนก็คงคิดอย่างแอบแขยงเล็กๆ ในใจว่า “ใช่เลย..การท่องศัพท์เนี่ยน่าเบื่อที่สุด...” นั่นคืออารมณ์เราเมื่อตอนเด็กๆ เลย.. ใช่มั้ยคะ ^^
นอกจากจะเป็นเรื่องไม่สนุกสำหรับเด็กๆ แล้ว เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องน่ากลุ้มใจของคุณพ่อ-คุณแม่ไม่แพ้กัน บางคนก็แอบคิดว่า “อืมเนอะ.. ตอนเด็กๆ ฉันก็เป็นเหมือนลูกนะ แต่ก็ไม่รู้จะทำยังงัยให้ลูกท่องศัพท์” ได้แต่บังคับให้ลูกท่องๆ ไป
จะเป็นอย่างไรนะถ้าเราจะบอกเด็กว่า "ห้ามท่องศัพท์นะลูก”... เด็กคงจะกระโดดดีใจตัวลอย.. ยินดีเรียนภาษาอังกฤษทุกวัน ให้ทำอะไรก็ทำ.. ว่ามั้ยคะ
อยากบอกว่าครูพิมใช้วิธีนี้มาตลอดการสอน 10 กว่าปีที่ผ่านมาค่ะ กฎทองที่ครูพิมให้เด็กตั้งแต่วันแรกที่เจอกันก็คือ “หนูห้ามท่องศัพท์นะคะ” เด็กตะลึง “อ้าว..ไม่ให้ท่องหรอคะ” ทีนี้หละเกิดอยากท่องขึ้นมาทันที ^^
ที่ทำแบบนี้ส่วนหนึ่งก็ยอมรับว่าแอบเอาใจเด็กๆ ค่ะ เพื่อให้เด็กหันมารักภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสิ่งแรกเลย หากเด็กไม่รัก ไม่สนใจ สอนอะไรไปก็หล่นหมดค่ะ ถ้าเด็กเค้าไม่ชอบก็เป็นหน้าที่ของครูที่ต้องหาวิธีอื่นมา “ช่วย” เด็กให้เรียนรู้คำศัพท์โดยไม่ต้องท่อง เพราะมันก็ไม่ใช่แค่เด็กๆ นี่คะที่ไม่ชอบการท่อง ครูก็ไม่ชอบท่องเหมือนกันค่าาา.. ^^ แต่ถึงจะไม่ชอบท่องก็กลับกลายเป็นคนที่เพื่อนๆ เรียกว่า “ดิกชันนารี่เคลื่อนที่” ได้ตั้งแต่เด็กๆ เหมือนกันนะ..
ก่อนจะไปพูดกันถึงเทคนิคว่าทำอย่างไรให้เด็กจำศัพท์ได้แบบไม่ต้องท่อง.. เรามาดูกันก่อนดีกว่าค่ะว่าผลของการ “ท่องศัพท์” นั้นเป็นอย่างไร... ครูพิมใช้แค่ 4 ข้อนี้ทดสอบเด็กในวันแรกที่เจอกันทุกครั้ง เพื่อเป็นแนวว่าจะต้องเริ่มสอนเด็กอย่างไรดี และก็พบว่า 100% เลยที่เด็กๆ ไม่สามารถทำได้ทุกข้อ ซึ่งตรงนี้ครูพิมไม่โทษเด็กเลยนะคะ กลับมองว่าเป็นความรับผิดชอบของผู้มีหน้าที่สอนและช่วยเหลือเด็กมากกว่า.. คุณพ่อ-คุณแม่ลองใช้ทดสอบลูกดูนะคะ
กฎคือ.. ให้เด็กเขียนศัพท์ในแต่ละข้อต่อไปนี้ คุณพ่อ-คุณแม่พูดคำแต่ละคำได้ไม่เกิน 5 ครั้งนะคะ พยายามออกเสียงให้ชัด ให้เวลาลูกนิดนึง พอเขียนเสร็จยังไม่ต้องเฉลยว่าถูกหรือผิดนะคะ เดี๋ยวน้องจะเสียกำลังใจซะก่อนจ๊ะ
1. ให้ลูกเขียนคำว่า apple, student, map, bed, Monday
สิ่งที่ต้องสังเกต - เด็กเขียนตัว d กับตัว b และ p สลับกันรึเปล่า.. เราอาจจะเจอว่าลูกสะกด apple เป็น addle หรือ abble.. นั่นก็เพราะเด็กจำหน้าตาศัพท์ค่ะ ตัว b, d, p เป็นตัวกลมๆ และมีหางเหมือนกัน เด็กก็เลยเอามาใช้สลับกัน.. โดยไม่ได้เข้าใจถึงความสัมพันธ์ของเสียงกับตัวอักษรเลย.. ทุกตัวมาจากการจำหน้าตาศัพท์ล้วนๆ เลยค่ะ หนูไม่ได้เข้าใจว่าทำไมต้องใช้ตัว p .. student ก็อาจเป็น stubent หรือ stupent, map เป็น mad หรือ mab, bed เป็น deb, Monday เป็น Monbay.. นอกจากนี้เราอาจหาคำอื่นๆ ที่มีตัว b, d, p ที่ลูกกำลังท่องให้ลองเขียนดูก็ได้ค่ะ
นอกจาก b, d, p แล้วบางทีก็เห็นมาในรูป i กับ j ที่สลับกัน หรือ n-h, m-n, m-w ได้ทุกคู่เลยค่ะ เพราะเค้ามาด้วยหน้าตาที่คล้ายกัน
2.ลองให้ลูกเขียนคำว่า bin แล้วให้เขียนคำว่า tin, fin, pin, min, sin, win, ต่อ.. หรือเด็กโตหน่อยอาจจะไปต่อด้วย twin, spin, mint
ลองสังเกตดูว่า ลูกเขียนได้ทุกคำหรือไม่ คำเหล่านี้ใช้หลักการประกอบคำเหมือนกันเป๊ะๆ เลย ก็เลยถือว่าเป็นคำง่าย เด็กควรจะต้องสามารถเทียบเสียงและสะกดได้
3.เขียนคำว่า chair, from, for, eleven, fast หรือคำอื่นในสมุดศัพท์
อันนี้ให้สังเกตว่า ลูกเขียนตัวอักษรในคำนั้นครบทุกตัวเลย แต่วางสลับกันไม่เป็นท่าเลยรึเปล่า เช่น.. chair เป็น chiar, from เป็น form, for เป็น from (จำสลับกัน), eleven เป็น elevne (จำไม่ได้ว่า n กับ e อะไรลงท้าย), fast เป็น fats เป็นต้น
ข้อ 1-3 นี้เป็นการทดสอบที่พ่อ-แม่จะรู้ได้ว่าลูกเรากำลัง “จำหน้าตาศัพท์” อยู่รึเปล่า ซึ่งถ้าลูกเขียนศัพท์ผิดแบบนี้ ก็เป็นสัญญาณที่ไม่ดีค่ะ เราคงปล่อยให้ลูกใช้วิธีนี้สำหรับจำศัพท์ภาษาอังกฤษซึ่งมีเป็นล้านคำไม่ได้ละ.. ฉะนั้นถ้าลูกทำข้อใดข้อหนึ่งไม่ได้ เราควรให้ลูกเลิกท่องศัพท์นะค่ะ เพราะเมื่อผลของการท่องศัพท์ไม่ได้นำไปสู่การเรียนรู้คำศัพท์ใหม่เลยซักนิด เราคงต้องหาวิธีอื่นแล้วหละค่ะ
แต่หากลูกทำมาได้ถึงข้อ 3 แล้ว พาลูกทานขนมโปรดซักหน่อยเป็นการให้รางวัลนะคะ หนูเก่งมาก.. แล้วก็ให้ลองทำข้อ 4 ดูค่ะ
4.ให้ลูกลองเขียนคำเหล่านี้ดูค่ะ (นิดนึงคือ ก่อนให้ลูกเขียน เรายังไม่ต้องสอนคำเหล่านี้นะคะ รวมถึงยังไม่ต้องสอนความหมายด้วยค่ะ แค่ออกเสียงแล้วให้ลูกเขียนพอจ๊ะ)
ป.1 - hotel, donut, napkin, summer, sixty
ป.2 - stone, computer, pardon, report, hundred, mushroom
ป.3+ - compose, report, invisible, origin, unforgettable, prohibit, diaper
ข้อ 4 นี้ บางคนอาจบอกว่า “ครูพิมโหด” ศัพท์ไฮโซมากเลย น้องยังเล็กจะเขียนได้อย่างไรคะ.. ขอบอกว่าไม่ได้โหดเลยนะคะ แล้วคุณจะรู้ว่าเด็กทำได้ค่ะ ข้อ 4 คือสิ่งที่เด็กควรจะทำได้ เพราะเป็นคำที่เอาคำสั้นๆ มาประกอบกันหมดเลย ไม่ได้มีการสะกดที่ซับซ้อนเลย หากเราสอนเทคนิคที่ถูกต้อง ลูกจะสามารถทำข้อ 4 ได้อย่างสบายๆ จะผิดนิดผิดหน่อย เช่นแค่เลือกตัวผิดเพราะไม่แน่ใจเสียง หรืออาจเบิ้ลตัวสะกด แบบนี้ก็ถือว่าอนุโลมให้ผ่านนะคะ
วันใดที่ลูกของคุณทำข้อ 4 ได้ วันนั้นคือวันที่ความมั่นใจของลูกกลับมาเต็มเปี่ยม ทีนี้ลูกจะเดินหน้าสนุกกับการเรียนภาษาอังกฤษอย่างที่พ่อ-แม่เอาไม่อยู่เลยค่ะ
คราวหน้ามาว่ากันด้วยเรื่องเทคนิคที่จะทำให้เด็กเขียนข้อ 4 ได้โดยไม่ต้องท่องค่ะ ^^
cr. คำถามดีๆ จากแฟนเพจค่ะ
Related Posts
See Allต่อเนื่องจากเมื่อวานนะคะ เรารู้แล้วว่าถ้าจะใช้ the ก็คือเมื่อเราต้องการจะบอกเฉพาะเจาะจงถึงสิ่งที่เรากำลังพูดถึง เช่น 1. I want to have a...
คำนี้ยอดฮิตติดปากคนไทยพอสมควรเลยค่ะ no have สำหรับเวลารีบๆ ที่จะตอบว่า “ไม่มี” .. no have เป็นการแปลที่ตรงตัวเหลือเกินและก็ไม่ถูกต้องด้วย...
Comments